แนะนำกันสักนิด

เรารวบรวมคลิปวีดีโอที่เห็นว่าแปลก มีประโยชน์ มาไว้เพื่อให้ท่านได้ค้นหาได้ง่ายขึ้น โดยความขอบคุณจากยูทูบที่ทำให้มีคลิปดีๆ ให้เราได้ดูได้ศึกษา...ขอบคุณอย่างสูง

วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเกิดจันทรุปราคา

จันทรุปราคา



จันทรุปราคา (เรียกได้หลายอย่าง เช่น จันทรคราส, จันทรคาธ, ราหูอมจันทร์ หรือ กบกินเดือน) คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ เรียงอยู่ในแนวเดียวกันพอดี จันทรุปราคา จะเกิดขึ้นเฉพาะในคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ หรือคืนวันพระจันทร์เต็มดวง ปรากฏการณ์จันทรุปราคาแม้จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่มีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อในหลายวัฒนธรรมมาช้านาน รวมทั้งของไทยด้วย ซึ่งลักษณะของจันทรุปราคาขึ้นอยู่กับตำแหน่งของดวงจันทร์ที่เคลื่อนที่ผ่านเงาของโลกในเวลานั้นๆ อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์จันทรุปราคา ไม่สามารถเกิดขึ้นทุกเดือน เนื่องจากระนาบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ และระนาบที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก ไม่ใช่ระนาบเดียวกัน หากตัดกันเป็นมุม 5 องศา ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดจันทรุปราคา จึงมีเพียงประมาณปีละ 1-2 ครั้ง โดยที่สามารถมองเห็นจากประเทศไทย เพียงปีละครั้ง

ประเภทของจันทรุปราคา

ประเภทของจันทรุปราคา มี 4 ประเภทคือ

1. จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ทั้งดวงเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก บางครั้งจะเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดง หรือที่เรียกว่า "พระจันทร์สีเลือด" การที่เรามองเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงมีสีดังสีเลือดก็เนื่องมาจากโลกมีบรรยากาศห่อหุ้มอยู่ เมื่อเงาดำของโลกทอดไปทับดวงจันทร์ บรรยากาศบางส่วนที่ได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์จะสะท้อนแสงไปยังเงาดำนั้นบ้าง จึงทำให้เกิดแสงสลัวๆ ปรากฏขึ้น

2. จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อบางส่วนของดวงจันทร์เฉี่ยวผ่านเงามัว

3. จันทรุปราคาเงามัว (Penumbra Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามัวของโลก โดยมิได้เฉี่ยวกายเข้าไปในเงามืดแม้แต่น้อย ดวงจันทร์จึงยังคงมองเห็นเต็มดวงอยู่ แต่ความสว่างลดน้อยลง สีออกส้มแดง จันทรุปราคาชนิดนี้หาโอกาสดูได้ยาก เพราะโดยทั่วไปดวงจันทร์มักจะผ่านเข้าไปในเงามืดด้วย

4. จันทรุปราคาเงามัวเต็มดวง เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าไปในเงามัวของโลกทั้งดวงแต่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในบริเวณเงามืด ดวงจันทร์ด้านที่อยู่ใกล้เงามืดมากกว่าจะมืดกว่าด้านที่อยู่ไกลออกไป จันทรุปราคาลักษณะนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก


การเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง
ลักษณะของดวงจันทร์เมื่อเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง

เมื่อเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์ไม่ได้หายไปจนมืดทั้งดวง แต่จะเห็นเป็นสีแดงอิฐ เนื่องจากมีการหักเหของแสงอาทิตย์เมื่อส่องผ่านชั้นบรรยากาศของโลก สีของดวงจันทร์เมื่อเกิดจันทรุปราคาแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน แบ่งออกได้เป็น 5 ระดับ ดังนี้

ระดับ 0 ดวงจันทร์มืดจนแทบมองไม่เห็น

ระดับ 1 ดวงจันทร์มืด เห็นเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลแต่มองไม่เห็นรายละเอียด ลักษณะพื้นผิวของดวงจันทร์

ระดับ 2 ดวงจันทร์มีสีแดงเข้มบริเวณด้านในของเงามืด และมีสีเหลืองสว่างบริเวณด้านนอกของเงามืด

ระดับ 3 ดวงจันทร์มีสีแดงอิฐและมีสีเหลืองสว่างบริเวณขอบของเงามืด

ระดับ 4 ดวงจันทร์สว่างสีทองแดงหรือสีส้ม ด้านขอบของเงาสว่างมาก

ปัจจัยในการเกิดจันทรุปราคา

จันทรุปราคาไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ เนื่องจากระนาบการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์และระนาบการโคจรของดวงจันทร์รอบโลกทำมุมกัน 5 องศา ในการเกิดจันทรุปราคา ดวงจันทร์จะต้องอยู่บริเวณจุดตัดของระนาบวงโคจรทั้งสอง และต้องอยู่ใกล้จุดตัดนั้นมาก จึงจะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงหรือจันทรุปราคาบางส่วนได้

ระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์มีผลต่อความเข้มของจันทรุปราคาด้วย นอกจากนี้ หากดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งที่ห่างจากโลกมากที่สุด (apogee) จะทำให้ระยะเวลาในการเกิดจันทรุปราคานานขึ้น ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ

1. ดวงจันทร์จะเคลื่อนที่อย่างช้าๆ เพราะตำแน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่ช้าที่สุดตลอดการโคจรรอบโลก

2. ดวงจันทร์ที่มองเห็นจากโลกจะมีขนาดเล็ก จะเคลื่อนที่ผ่านเงาของโลกไปทีละน้อย ทำให้อยู่ในเงามืดนานขึ้น

ในทุกๆ ปีจะมีจันทรุปราคาเกิดขึ้นอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หากเก็บสถิติการเกิดจันทรุปราคาแล้ว จะสามารถทำนายวันเวลาในการเกิดจันทรุปราคาครั้งต่อไปได้

การสังเกตจันทรุปราคาแตกต่างจากสุริยุปราคา จันทรุปราคาส่วนใหญ่จะสามารถสังเกตได้จากบริเวณใดๆ บนโลกที่อยู่ในช่วงเวลากลางคืนขณะนั้น ขณะที่สุริยุปราคาจะสามารถสังเกตได้เพียงบริเวณเล็กๆ เท่านั้น

หากขึ้นไปยืนอยู่บนพื้นผิวของดวงจันทร์ขณะที่เกิดจันทรุปราคาบนโลก ก็จะสามารถเห็นการเกิดสุริยุปราคาบนดวงจันทร์ได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ เนื่องจากการที่โลกกำลังบังดวงอาทิตย์อยู่ในเวลานั้น

ลำดับการเกิดจันทรุปราคา



จันทรุปราคาเต็มดวงจะเริ่มต้นด้วยจันทรุปราคาบางส่วนก่อนเช่นเดียวกับการเกิดสุริยุปราคา คือเมื่อดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกหมดทั้งดวง ก็เรียกว่าเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เมื่อดวงจันทร์เริ่มออกจากเงามืด ดวงจันทร์ก็จะสว่างขึ้นทีละน้อยจนสว่างดังเดิม เมื่อดวงจันทร์ผ่านพ้นเงามืดของโลก ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงก็สิ้นสุดลง

การสัมผัสของดวงจันทร์กับโลกในขณะเกิดจันทรุปราคา มี 4 จังหวะด้วยกันคือ

1. สัมผัสที่ 1 (First contact) เป็นจุดเริ่มต้นที่ดวงจันทร์เริ่มสัมผัสเงามืดของโลกครั้งแรก เมื่อขอบตะวันออกของดวงจันทร์สัมผัสเงามืดของโลกจะเริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน ดวงจันทร์จะแหว่งและลดความสว่างลง

2. สัมผัสที่ 2 (Second Contact) ดวงจันทร์จะสัมผัสเงามืดของโลกครั้งที่ 2 เป็นจังหวะที่ขอบตะวันตกของดวงจันทร์สัมผัสเงาโลก ในตำแหน่งเช่นนี้ดวงจันทร์ทั้งดวงจะอยู่ในเงามืดของโลก จึงเป็นการเริ่มต้นเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์จะมืดลงมาก แต่ไม่ดำสนิท การสัมผัสครั้งนี้จะกินเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงจึงจะเต็มดวง

3. สัมผัสที่ 3 (Third Contact) เป็นจุดที่ดวงจันทร์สัมผัสเงามืดของโลกเป็นครั้งที่ 3 จะเป็นการสิ้นสุดการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เริ่มมองเห็นขอบตะวันออกของดวงจันทร์สว่างขึ้น กลายเป็นจันทรุปราคาบางส่วน

4. สัมผัสที่ 4 (Fouth Contact) เป็นจุดสิ้นสุดของการเกิดจันทรุปราคาบางส่วน ดวงจันทร์จะผ่านพ้นเงามืดของโลกหมดดวง ดวงจันทร์จะสว่างขึ้นดังเดิม

ที่มา
http://www4.eduzones.com/montra/2884

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น